ข่าวประชาสัมพันธ์
แนะนำหนังสือน่าอ่านต้นปี 2566 โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
วันที่ 21 มิถุนายน 2566

“ชีวิตผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะเรื่องการอ่าน เพราะการอ่านเป็นการเพิ่มวิธีคิด” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยพูดถึงคุณค่าจากหนังสือทุกเล่มที่ได้อ่าน เขาจึงมักแนะนำหนังสือหลายต่อหลายเล่ม ที่อ่านแล้วดีต่อใจ ได้แง่คิด มีแก่นที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต จิตใจ และการบริหารได้ เขาก็มักจะนำมาแนะนำกับผู้คนเสมอ

ผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติ เคยแนะนำหนังสือดี ๆ หลายเล่มที่เขาได้อ่านไม่ว่าจะเป็น

  • Sapiens A Brief History of Humankind ของยูวัล โนอาห์ แฮรารี
  • 21 Lessons for 21st Century ของยูวัล โนอาห์ แฮรารี
  • Grit The Power of Passion and Perseverance โดย Angela Duckworth
  • The Power of Habit ของ Charles Duhigg
  • Think Again ของ Adam Grant
  • Thinking Fast and Slow ของ Daniel Kahneman
  • How to win friends & influence people ของ Dalw Carnegie
  • Designing Your Life ของ Bill Burnett กับ Dave Evans
  • Zero to One โดย Blake Masters และ Peter Thiel
  • Good to great ของ Jim Collins
  • Post Corona : From Crisis to Opportunity  ของ Scott Galloway
  • Mindset The New Psychology of Success ของ Carol S.Dweck

ปีใหม่นี้ ชัชชาติ แนะนำหนังสือเล่มล่าสุด ที่เขาบอกว่า อ่านจบในคืนเดียว คือหนังสือชื่อ What We Owe Each Other หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2021 เขียนโดย Minouche Shafik (มีนุทช ชาฟิก) นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระดับต้น ๆ ของโลก ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ London School of Economics and Political Science

หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องอะไร ?

ชัชชาติ ให้สัมภาษณ์กับรายการ TOMORROW ของ Today Bizview ถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า หากให้เขาแปลชื่อหนังสือ What We Owe Each Other แบบเข้าใจง่ายก็คือ “เรามีภาระอะไรต่อกัน” ก็คือความคาดหวังที่เรามีซึ่งกันและกันในสังคมว่าเราควรทำอะไรร่วมกันบ้าง เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนตามบริบท สถานการณ์ และเป็นความตกลงร่วมกันในสังคมนั้นด้วย ดังนั้นแต่ละสังคมในแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกัน จะพัฒนาเปลี่ยนไปตามบริบทของตัวเอง

หนังสือเล่มนี้ คือการทบทวนถึงโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองทั้งหมดว่าทุกคนในสังคมไม่ว่าจะชาย หญิง วัยรุ่น เด็ก เพศทางเลือก คนรวยคนจน ชนชั้นกลาง ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ล้วนมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกันเพื่อจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการออกแบบกฎกติกาให้สังคมของตัวเองดีขึ้น และตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้อย่างไร เป็นเหมือน พันธะสัญญาต่อสังคมร่วมกันนั่นเอง หรือที่ในหนังสือใช้คำว่า Social Contract คือสวัสดิการในฐานะผู้รับและผู้ให้

ชัชชาติ เล่าว่า ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิดจนถึงชราภาพ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงโครงสร้างสังคมในโลกที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องคำนึงถึงการออกแบบนโยบายสังคมให้เท่าทันยุคสมัย เช่น ทุกวันนี้เราพูดถึงบทบาทผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ การเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกค่อยๆลดน้อยลง นั่นทำให้บทบาทรัฐในการทำนโยบาย ก็ต้องคำนึงถึงนโยบายที่จะมีศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กให้มากขึ้น หรือการให้ผู้ชายมีสิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงลูกเหมือนผู้หญิงลาคลอด เป็นต้น

แม้กระทั่งเรื่องของสังคมสูงวัย เมื่อคนเรามียืนอายุยืนยาวมากขึ้น ช่วงที่เราจะไม่ได้ทำงานอาจจะยาวมากขึ้น ถามว่าใครจะจ่ายเงินตรงนี้ โดยเฉพาะคนอาจจะมีจำนวนน้อยลง เพราะคนไม่อยากมีลูกแล้ว ดังนั้นเป็นพันธะสัญญาว่าสุดท้ายแล้วอนาคตใครจะดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน จะเป็นครอบครัวดูแลกันเองหรือเป็นภาครัฐดูแล หรือการที่ระยะสุดท้ายของผู้สูงวัยเลือกมีชีวิตอยู่หรือเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์การออกแบบพันธะสัญญาของแต่ละสังคมในอนาคต

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ ชัชชาติ ชี้ให้เห็นคือ การที่รัฐต้องจัดการศึกษาที่ทั่วถึงเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศ ให้หลุดพ้นความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการศึกษาที่ดีมีคุณภาพทุกคนเข้าถึง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้พันธะสัญญา

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอาชีพการงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากตามเทคโนโลยี คนทำงานต้องปรับตัวเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นบทบาทรัฐก็จะต้องสร้างและสนับสนุนให้คนมีสิทธิ์เข้าถึงการเรียนรู้ มีการเปิดเทรนนิ่งอบรม ให้ทันกับโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น การออกแบบนโยบายรัฐก็ต้องทำสวัสดิการ และทำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ หรือเบี้ยชดเชยการว่างงานให้สอดคล้อง เป็นต้น

ในหนังสือ What We Owe Each Other พูดถึงแก่นหลักที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่จะทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ เจนเนอเรชั่น การศึกษา สุขภาพ ผู้สูงอายุ การจ้างงาน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

หนังสือเล่มนี้มีลักษณะแนววิชาการ และเป็นเรื่องของแนวคิดเป็นส่วนใหญ่ สำหรับประเทศไทยแล้ว การจะทำให้เกิด การออกแบบพันธะสัญญา หรือ Social Contract ขึ้นมาได้จริง ต้องทำอย่างไร

ชัชชาติ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความไว้ใจ หรือ Trust

“ผมเป็นผู้ว่าฯกทม. 6 เดือน สิ่งที่หายไปไม่ใช่งบประมาณ ไม่ใช่เงิน แต่คือ Trust”

ชัชชาติ อธิบายต่อว่า จะเกิด Social Contact ได้ต้องมีความไว้ใจเกิดขึ้นก่อน ถ้าสร้างระหว่างกันได้ การมีพันธะสัญญาก็จะแข็งแรงขึ้นและเป็นจริงได้ ดังนั้นต้องพัฒนาความไว้วางใจระหว่างกันให้เข้มแข็งมากขึ้น หลายอย่างที่สังคมเห็นพ้องให้เกิดร่วมกันไม่ได้มาจากเอากฎหมายไปบังคับใช้ เช่น เรื่องความสะอาดของเมืองไม่มีทางเอากฎหมายไปบังคับใช้ไล่จับ แต่ต้องทำให้คนในเมืองรู้สึกเป็นพันธะสัญญาว่าจะดูแลเมือง หรือการทุจริตเราไปตามไล่จับไม่ได้ แต่ต้องสร้างความไว้วางใจ โปร่งใส ทำให้จริงจัง เราให้อำนาจไว้ใจประชาชน เขาเห็นเราแก้ปัญหาให้ เขาก็จะไว้ใจเรามากขึ้น

ดังนั้นการมีพันธะสัญญาสังคมได้ต้องไว้ใจกัน ภาครัฐต้องเอาจริง โปร่งใสและประชาชนจะไว้ใจ

“ที่ผ่านมาเราอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน เราก็มี Social Contact ที่เราพัฒนาปรับเปลี่ยนจากเรื่องเก่าให้ทันสมัยเรื่อยๆ ดังนั้นเราก็ต้องเปิดให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทในการเขียนพันธะสัญญาใหม่ในอนาคตด้วยเช่นกัน และไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่เป็นภารกิจของคนในสังคมร่วมมือกันออกแบบนโยบายและพันธะสัญญาให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เราอยู่นั่นเอง”

ปิดท้ายด้วยมุมมองจากศาสตราจารย์ Minouche Shafik ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เคยแสดงความเห็นไว้ว่า ถ้าให้เสนอพันธะสัญญา หรือ Social Contract แบบเป็นรูปธรรมว่าจะช่วยคนรุ่นหลังในยุคที่การก้าวข้ามขยับฐานะและชนชั้นทำได้ยากขึ้น คือ

  • เพิ่มการเก็บภาษีนิติบุคคลกับบริษัทที่ทำธุรกิจในชุมชนต่างๆ
  • เก็บภาษี property tax
  • คนรุ่นเก่าต้องมีระยะจำนวนปีทำงานให้นานขึ้น (ขยายเวลาเกษียณ) เพื่อมีรายได้มาจ่ายภาษี property tax ภาษีความมั่งคั่งต่างๆ
  • คนรุ่นเก่ายอมรับกติกา carbon tax (ภาษีโลกร้อน)
  • รัฐต้องออกแบบนโยบายที่คิดถึงคนรุ่นหลังให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้หลายประเทศ ออกแบบนโยบายเน้นให้กับสังคมสูงวัยมากกว่า
  • ต้องออกแบบการศึกษาแบบที่เปิดให้สามารถเข้าถึงระบบที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพราะอนาคตตลาดแรงงานมีพลวัติ การพัฒนาทักษะใหม่ต้องเกิดขึ้นตลอด
  • เสนอว่าการออกแบบระบบเลือกตั้งควรให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาคือคนที่จะต้องมีชีวิตอยู่กับระบบสังคม การออกแบบสังคมนี้นานกว่าใคร